กฤษณา ชื่อวิทยาศาสตร์ Aquilaria crassna Pierre ex Lecomte.
ต้นกฤษณา ชื่อวิทยาศาสตร์ Aquilaria crassna Pierre ex Lecomte.
@ สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ จตุจักร กรุงเทพมหานคร
@ สวนสมุนไพรสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ระยอง
กฤษณา (ไม้หอม ) ไม้ต้นขนาดย่อม ถึงขนาดกลาง
เนื้อไม้ รสขมหวาน สรรพคุณ บำรุงโลหิต บำรุงหัวใจ บำรุงตับ ปอด แก้ลมหน้ามืดวิงเวียน
ยาขนานใดที่ปรุงขึ้นมาแล้ว รสสุขุม ได้แก่ ยาที่เข้าพืช สัตว์ ธาตุที่ไม่ร้อน เช่น โกฐเทียน กฤษณา กระลำพัก จันทน์เทศ เครื่องเทศที่ไม่ร้อน มาปรุงเป็นยารสสุขุม เช่น ยาหอมอินทจักร ยาหอมเนาวโกฐ ยาสังข์วิชัย เป็นต้น ซึ่งมีสรรพคุณแก้ในกองอาโปธาตุ (ธาตุน้ำ) แก้ไข้ที่ใช้ยารสเย็นไม่ได้แก้ลมกองละอียด ลมวิงเวียน ใจสั่นหวั่นไหว บำรุงกำลัง ใช้สำหรับแก้ไข้ในกองฤดูหนาว
ตัวยารสหอมเย็น บำรุงหัวใจ ตัวยาและสรรพคุณ เช่น
๑. เกสรทั้ง ๕ รสหอมเย็น แก้ร้อนในกระหายน้ำ แก้ไข้จับ ไข้เพื่อลม ให้เจริญอาหาร แก้โรคตา และบำรุงหัวใจ
๒. หญ้าฝรั่น รสหอมเย็น ชูกำลัง บำรุงหัวใจ ทำให้ชื่นใจ
๓. รากแฝกหอม รสหอมเย็น บำรุงหัวใจ แก้ไข้เพื่อดี
๔. น้ำดอกไม้เทศ รสหอมเย็น บำรุงหัวใจให้ผ่องใส
๕. ต้นเตยหอม รสหอมเย็น บำรุงหัวใจ ขับปัสสาวะ
๖. รากชะลูด รสหอมเย็น แก้ไข้อ่อนเพลีย แก้ลมบาดทะจิต
๗. กฤษณา รสหอมเย็น บำรุงหัวใจ บำรุงตับ ปอด แก้ไข้
๘. กระลำพัก รสหอมเย็น แก้พิษเสมหะ โลหิต บำรุงตับ ปอด หัวใจ แก้ธาตุพิการ
๙. ขอนดอก รสหอมเย็น แก้ไข้เพื่อตรีโทษ บำรุงครรภ์รักษา บำรุงตับ ปอด และหัวใจ
๑๐. พิมเสนในปล้องไม้ไผ่ รสหอมเย็น แก้เสมหะ แก้ลม แก้หอบ หืด แก้โรคตา
ยาหอมเทพวิจิตร
วัตถุส่วนประกอบ ลูกจันทน์ ดอกจันทน์ ลูกกระวาน านพลู จันทน์แดง จันทน์ขาว กฤษณา กระลำพัก ขอนดอก ชะลูด อบเชย เปราะหอม แฝกหอม หนักสิ่งละ ๒ ส่วน ผิวมะกรูด ผิวมะงั่ว ผิวมะนาว ผิวส้มตะรังกะนู ผิวส้มจีน ผิวส้มโอ ผิวส้มเขียวหวาน หนักสิ่งละ ๔ ส่วน ผิวส้มซ่าหนัก ๒๘ ส่วน ดอกพิกุล ดอกบุนนาค ดอกสารภี เกสรบัวหลวง ดอกบัวขม ดอกบัวเผื่อน หนักสิ่งละ ๔ ส่วน ชะมดเช็ด การบูร หนักสิ่งละ ๑ ส่วน โกฐสอ โกฐเขมา โกฐหัวบัว โกฐเชียง โกฐจุฬาลัมพา โกฐกระดูก โกฐก้านพร้าว โกฐพุงปลา โกฐชฎามังสี หนักสิ่งละ ๔ ส่วน เทียบดำ เทียนแดง เทียนขาว เทียนข้าวเปลือก เทียนตาตั๊กแตน เทียนเยาวพาณี เทียนสัตตบัษย์ เทียนเกล็ดหอย เทียนตากบ หนักสิ่งละ ๔ ส่วน พิมเสนหนัก ๔ ส่วน ดอกมะลิหนัก ๑๘๔ ส่วน
วิธีทำ บดเป็นผง ผสมน้ำดอกไม้เทศ ทำเป็นเม็ด หนักเม็ดละ ๐.๒ กรัม
สรรพคุณ แก้ลม บำรุงหัวใจ
ขนาดรับประทาน ครั้งละ ๕ – ๗ เม็ด
ขนาดบรรจุ ๓๐ เม็ด
ยาหอมทิพโอสถ
วัตถุส่วนประกอบ ดอกพิกุล ดอกบุนนาค ดอกสารถี ดอกมะลิ เกสรบัวหลวง ดอกกระดังงา ดอกจำปา ดอกบัวจงกลณี หัวแห้วไทย กระจับ ฝาง จันทน์แดง จันทน์ขาว จันทน์เทศ กฤษณา ชะลูด อบเชย สมุลแว้ง สนเทศ ว่านน้ำ กระชาย เปราะหอม ดอกคำไทย ชะเอมเทศ สุรามฤต ข่าต้น ลูกจันทน์ ดอกจันทน์ หนักสิ่งละ๔ ส่วนโกฐสอ โกฐเขมา โกฐหัวบัว โกฐเชียง โกฐจุฬาลัมพาโกฐกระดูก โกฐก้านพร้าว โกฐพุงปลา โกฐชฎามังสี หนักสิ่งละ ๒ ส่วน เทียนดำ เทียนแดง เทียนขาว เทียนข้าวเปลือก เทียนน้ำตาตั๊กแตน เทียนเยาวพาณี เทียนสัตตบุษย์ เทียนเกล็ดหอย เทียนตากบ การบูร หนักสิ่งละ ๑ ส่วน ชะมดเช็ด พิมเสน หนักสิ่งละ ๒ ส่วน
วิธีทำ
ชนิดผง บดเป็นผง
ชนิดเม็ด บดเป็นผง ทำเป็นเม็ด หนักเม็ดละ ๐.๒ กรัม
สรรพคุณ แก้ลมวิงเวียน ละลายน้ำดอกไม้หรือน้ำสุก
ขนาดรับประทาน
ชนิดผง ครั้งละ ๑/๒ – ๑ ช้อนกาแฟ
ชนิดเม็ด ครั้งละ ๕ – ๗ เม็ด
ขนาดบรรจุ
ชนิดผง ๑๕ กรัม
ชนิดเม็ด ๓๐ เม็ด
ยาหอมอินทจักร์
วัตถุส่วนประกอบ สะค้าน รากช้าพลู ขิง ดีปลี รากเจตมูลเพลิง ลูกผักชีลา โกฐสอ โกฐเขมา โกฐก้านพร้าว โกฐพุงปลา โกฐจุฬาลัมพา โกฐเชียง โกฐกักกรา โกฐน้ำเต้า โกฐกระดูก เทียนดำ เทียนขาว เทียนแดง เทียนข้าวเปลือก เทียนเยาวพาณี จันทน์แดง จันทน์เทศ เถามวกแดง เถามวกขาว รากหญ้านาง เปลือกชะลูด อบเชย เปลือกสมุลแว้ง กฤษณา กระลำพัก บอระเพ็ด ลูกกระดอม กำยาน ขอนดอก ชะมดเช็ด ลูกจันทน์ ดอกจันทน์ ลูกกระวาน กานพลู รากไคร้เครือ ลำพันแดง ดอกสารภี ดอกพิกุล ดอกบุนนาค ดอกจำปา ดกกระดังงา ดอกมะลิ ดอกคำไทย ฝางเสน ดีงูเห่า ดีหมูป่า ดีวัว พิมเสน สิ่งละ ๑ ส่วน
วิธีทำ ชนิดผง บดเป็นผง
ชนิดเม็ด บดเป็นผง ทำเป็นเม็ด หนักเม็ดละ ๐.๒ กรัม
สรรพคุณ แก้ลมบาดทะจิต ใช้น้ำดอกมะลิ
แก้คลื่นเหียนอาเจียน ใช้น้ำลูกผักชี เทียนดำต้ม ถ้าไม่มีใช้น้ำสุก
แก้ลมจุกเสียด ใช้น้ำขิงต้ม
ขนาดรับประทาน รับประทานทุก ๓ ชั่วโมง
ชนิดผง ครั้งละ ๑ ช้อนกาแฟ
ชนิดเม็ด ครั้งละ ๕ – ๑๐ เม็ด
ขนาดบรรจุ ชนิดผง ๑๕ กรัม ชนิดเม็ด ๓๐ เม็ด
ยาบำรุงโลหิต
วัตถุส่วนประกอบ โกฐจุฬาลัมพา เนื้อลูกสมอไทย เนื้อลูกสมอดีงู เนื้อลูกสมอพิเภก เปลือกชะลูด เปลือกอบเชยเทศ จันทน์แดง แก่นแสมสาร แก่นแสมทะเล กฤษณา หนักสิ่งละ ๑ ส่วน ครั่ง หนัก ๘ ส่วน ฝาง ดอกคำไทย หนักสิ่งละ ๑๐ ส่วน
วิธีทำ บดเป็นผง
สรรพคุณ บำรุงโลหิต
ขนาดรับประทาน รับประทานวันละ ๒ ครั้ง เช้า – เย็น ก่อนอาหาร
ครั้งละ ๑ ช้อนกาแฟ ละลายน้ำสุก
ขนาดบรรจุ ๓๐ กรัม
หลักในการพิจารณาตัวยา ๕ประการ
ในการที่จะรู้จักเภสัชวัตถุนั้น ๆ จำเป็นต้องรู้ให้ลึกซึ้งถึงรูปลักษณะพื้นฐานของวัตถุธาตุ ซึ่งมีหลักในการพิจารณาตัวยา ๕ ประการ คือ
๑.๑ รูป คือ การรู้รูปลักษณะของตัวยานั้นว่ามีรูปร่างที่ปรากฏเป็นอย่างไร ถ้าเป็นพืชวัตถุก็ต้องรู้ว่าเป็นพืชจำพวกต้น จำพวกเถา จำพวกหัว จำพวกผักหรือหญ้าว่ามีส่วนต่างๆ เช่น ต้น ราก ใบ ดอก ผล มีรูปอย่างไร ถ้าเป็นสัตว์วัตถุก็ต้องรู้ว่าเป็นสัตว์จำพวก สัตว์บก สัตว์น้ำ สัตว์อากาศว่ามีอวัยวะต่างๆ เช่น ขน เขา นอ เขี้ยว กระดูกมีรูปเป็นอย่างไร ถ้าเป็นธาตุวัตถุ ก็ต้องรู้ว่าเป็นธาตุสลายตัวได้ง่าย ธาตุสลายตัวได้ยากว่า มีสถานะเป็นของแข็ง ของเหลวเป็นเกล็ด เป็นแผ่น หรือเป็นผง เป็นต้น เรียกว่า รู้จักรูปของตัวยา
๑.๒ สี คือ การรู้สีของตัวยานั้นว่ามีสีอะไร เช่น ใบไม้มีสีเขียว กระดูกสัตว์มีสีขาวแก่นฝางมีสีแดง ยาดำมีสีดำ จุนสีมีสีเขียว กำมะถันมีสีเหลือง เป็นต้น เรียกว่ารู้จักสีของตัวยา
๑.๓ กลิ่น คือ การรู้กลิ่นของตัวยานั้นว่ามีกลิ่นเป็นอย่างไร อย่างนี้กลิ่นหอมหรือกลิ่นเหม็น เช่น กฤษณา กำยาน อบเชย ดอกมะลิ ชะมดเช็ด อำพันทอง มีกลิ่นหอม ยาดำ กำมะถัน กระดูกสัตว์ มหาหิงคุ์ มีกลิ่นเหม็น เป็นต้น เรียกว่ารู้จักกลิ่นของตัวยา
๑.๔ รส คือ การรู้รสของตัวยานั้นว่ามีรสเป็นอย่างไร ให้รู้ว่าอย่างนี้รสจืด รสขม รสหวาน รสเปรี้ยว รสเมาเบื่อ รสเผ็ดร้อน รสมัน รสหอมเย็น รสเค็ม หรือฝาด เช่น พริกไทย มีรสร้อน มะนาวมีรสเปรี้ยว น้ำผึ้งมีรสหวาน เป็นต้น เรียกว่ารู้จักรสของตัวยา
๑.๕ ชื่อ คือ การรู้ชื่อของตัวยานั้นว่าเขาสมมติชื่อเรียกไว้อย่างไร เช่น สิ่งนั้นเรียกชื่อเป็นข่า กะทือ มะขาม วัว กวาง เสือ เกลือ กำมะถัน ศิลายอน เป็นต้น เรียกว่า รู้จักชื่อของตัวยา ในหลัก ๕ ประการดังกล่าวมานี้ จะเป็นข้อพิสูจน์ทำให้เรารู้ว่าเป็นตัวยาอะไร ฉะนั้นการจะรู้จักตัวยาได้นั้น จึงต้องอาศัยหลัก ๕ ประการดังกล่าวนี้
The Demonstration of Ramkhamhaeng University.